แนะนำวิธีการใช้รถไฟญี่ปุ่นเบื้องต้น
รถไฟญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการหลาหลายบริษัทด้วยกันโดยมีบริษัทเครือ Japan Railways (JR) เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด มีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีบริษัทรถเอกชนให้บริการตามภูมิภาคและเมืองต่างๆอีกมากมาย ดังนั้นการจะให้เข้าใจรถไฟญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้าเรารู้พื้นฐานต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยนักท่องเที่ยวมือใหม่ให้การเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองนั้นง่ายยิ่งขึ้น
ประเภทรถไฟญี่ปุ่น
ประเภทของรถไฟญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบหลักๆ (อ้างอิงจากการให้บริการของรถไฟ JR เป็นหลัก ซึ่งรูปแบบของบริษัทรถไฟเอกชน อาจแตกต่างไปตามแต่ละบริษัท)
รถธรรมดา (Local)
รูปแบบการให้บริการรถไฟที่มีในทุกเส้นทาง จอดทุกสถานี จึงถูกเรียกว่ารถไฟหวานเย็น เหมาะสำหรับการเดินทางภายในเมืองหรือท้องถิ่นตามชนบท
รถเร็ว (Rapid)
รูปแบบการให้บริการรถไฟที่มีในเส้นทางชานเมือง จอดน้อยกว่ารถไฟธรรมดา และมีให้บริการสลับกับรถไฟธรรมดาในเส้นทางที่มีคนใช้หนาแน่น เพื่อลดเวลาเดินทางในระยะที่ไกลมากขึ้นแต่จ่ายในราคาตั๋วที่เท่ากัน
รถด่วนพิเศษ (Limited Express)
รูปแบบการให้บริการรถไฟระหว่างเมือง จอดเฉพาะสถานีที่สำคัญ เช่น สถานีชุมทาง และสถานีหลักของเมือง ซึ่งราคาตั๋วสูงกว่ารถไฟธรรมดา ขบวนรถจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เพื่อรองรับการเดินทางที่นาน เช่น มีเก้าอี้นั่งสบาย มีห้องน้ำ มีชั้นวางกระเป๋าสัมภาระ ความถี่ในการให้บริการส่วนมากจะประมาณชั่วโมงละ 1-2 ขบวน ราคาค่าโดยสารสูงกว่ารถไฟธรรมดา
รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น (Shinkansen)
รูปแบบการให้บริการรถไฟระหว่างเมืองที่แยกระบบออกจากรถไฟประเภทอื่นๆ มีราคาตั๋วแพงที่สุด และมีเส้นทางผ่านเฉพาะสถานีหลักของเมืองต่างๆ เช่น สถานี Tokyo, Shin-Osaka, Nagoya, Hakata, Sendai เป็นต้น โดยมีชานชาลาชินคันเซ็นและประตูทางเข้าภายในสถานีที่แยกกับรถไฟประเภทอื่น ภายในขบวนรถจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับรถไฟด่วนพิเศษ
ประเภทที่นั่งรถไฟญี่ปุ่น
ที่นั่งธรรมดา (Ordinary Seat)
ที่นั่งราคาเริ่มต้นที่มีในรถไฟทุกขบวน ซึ่งลักษณะที่นั่งจะขึ้นอยู่กับการออกแบบของขบวนรถไฟนั้นๆ
ที่นั่งธรรมดามีทั้งแบบอิสระไม่ระบุที่นั่ง (Non-Reserved Seat) ที่ผู้โดยสามารถเลือกที่นั่งได้เองเมื่ออยู่ภายในขบวนรถแล้ว และแบบระบุที่นั่ง (Reserved Seat) ซึ่งต้องจองล่วงหน้าโดยตั๋วจะกำหนดที่นั่งและขบวนรถไว้ โดยรถไฟประเภท Local และ Rapid จะเป็นแบบไม่ระบุที่นั่งทั้งขบวน ส่วนรถไฟ Limited Express และ Shinkansen มีทั้งแบบระบุกับไม่ระบุที่นั่งแต่จำนวนที่นั่งขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละเส้นทาง
ที่นั่งกรีนคาร์ (Green Car)
ประเภทที่นั่งของรถไฟ JR แบบระบุที่นั่ง (Reserved Seat) ที่มีในเฉพาะรถไฟเร็วบางขบวน รถไฟด่วนพิเศษส่วนใหญ่ และมีในรถไฟชินคันเซ็นทุกขบวน ที่นั่งจะกว้างสบายกว่า เปรียบเสมือนที่นั่งชั้นธุรกิจบนเครื่องบิน มีราคาแพงกว่าที่นั่งธรรมดา
ที่นั่งแกรนคลาส (GranClass)
ประเภทที่นั่งของรถไฟ JR แบบระบุที่นั่ง (Reserved Seat) ที่เปรียบเสมือนที่นั่งชั้นหนึ่งบนเครื่องบินและมีในเฉพาะในรถไฟชินคันเซ็นบางขบวนในเส้นทาง Tohoku Shinkansen, Hokuriku Shinkansen, Joetsu Shinkansen, Hokkaido Shinkansen ใน 1 ขบวนมีที่นั่งแกรนคลาสเพียง 18 ที่นั่งเท่านั้น
การใช้บริการรถไฟญี่ปุ่น
ซื้อตั๋วรถไฟสำหรับการเดินทางภายในเมืองหรือพื้นที่รอบๆ
การเดินทางภายในเมืองหรือพื้นที่รอบๆ ด้วยรถไฟธรรมดาหรือรถไฟเร็ว สามารถซื้อตั๋วรายเที่ยวจากตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ โดยตู้อัตโนมัติส่วนใหญ่ต้องจ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น มีเพียงผู้ให้บริการบางบริษัทเท่านั้นที่รับบัตรเครดิต
หรือการใช้บัตร IC Card ได้แก่บัตร Suica, PASMO, ICOCA, Kitaca, SUGOCA, manaca, toica, Hayakaken, nimoca ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินที่สามารถใช้จ่ายแทนตั๋วรถไฟในการเดินทางภายในเมืองใหญ่หรือพื้นที่รอบๆ ได้เช่นกัน
ซื้อตั๋วรถไฟสำหรับการเดินทางระยะไกล
การเดินทางไกลด้วยรถไฟด่วนพิเศษหรือรถไฟชินคันเซ็น สามารถทำผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นตู้ที่ระบุไว้สำหรับการจอง Limited Express หรือ Shinkansen โดยจะมีความซับซ้อนในการใช้งานมากกว่า เนื่องจากมีระบบจองที่นั่งเข้ามาด้วย
สำหรับคนที่ไม่ถนัดใช้งานตู้อัตโนมัติ สามารถทำการจองรถไฟทุกประเภท รวมถึงซื้อและแลกรับพาสกับเจ้าหน้าที่ที่ Ticket Office (Midori-no-madoguchi) ตามสถานีหลักๆได้ เพียงแค่แจ้งสถานีปลายทาง จำนวนคน วัน และเวลาที่ต้องการ แนะนำว่าให้จดใส่กระดาษเป็นภาษาอังกฤษแล้วยื่นให้เจ้าหน้าที่ จะง่ายต่อการสื่อสารที่สุด
เข้าภายในพื้นที่สถานี
เมื่อซื้อตั๋วเรียบร้อย ให้สอดตั๋วเข้าที่ประตูอัตโนมัติโดยการสอดตั๋วเข้าไปในช่องเสียบ กรณีได้รับตั๋วหลายใบ (เดินทางด้วยรถไฟด่วนพิเศษหรือรถไฟชินคันเซ็น) ให้สอดตั๋วทุกใบเข้าช่องได้เลย แล้วก่อนเดินผ่านให้หยิบตั๋วคืนทุกครั้ง ถ้าใช้บัตร IC Card ให้แตะบัตรที่แถบที่ระบุว่า IC แล้วเดินผ่านได้เลย
สำหรับใครที่ใช้รถไฟชินคันเซ็น เมื่อเข้ามาในพื้นที่ด้านในแล้ว ยังต้องผ่านประตูอัตโนมัติของชินคันเซ็นอีกชั้น เพราะชานชาลารถไฟชินคันเซ็นจะแยกกับรถไฟประเภทอื่นๆ
ก่อนขึ้นรถไฟ
ภายในสถานีจะมีป้ายจอ LED บอกข้อมูลสายรถไฟ ประเภทรถไฟ ชื่อขบวนรถไฟ ปลายทาง เวลาออก และหมายเลขชานชาลา รวมถึงป้ายบอกทางไปชานชาลาตลอดทาง โดยชานชาลาหนึ่งอาจมีรถไฟเข้ามากกว่า 1 เส้นทาง เพื่อไม่ให้ขึ้นผิดขบวน ควรตรวจสอบที่ป้ายจอ LED บริเวณชานชาลาอีกครั้ง
กรณีขึ้นรถไฟด่วนพิเศษหรือรถไฟชินคันเซ็น บริเวณชานชาลาจะมีป้ายที่ระบุหมายเลขตู้ (Car Number) ของรถไฟที่จะจอด เพื่อความรวดเร็วในการขึ้นรถไฟ ควรยืนรอให้ตรงกับหมายเลขตู้ที่ระบุบนตั๋วสำหรับการจองแบบ Reserved Seat หรือยืนรอตรงหมายเลขที่ระบุว่าเป็น Non-Reserved สำหรับคนที่ไม่ได้จองที่นั่งล่วงหน้า
ภายในรถไฟ
มารยาทพื้นฐานบนรถไฟที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากคือการไม่รบกวนผู้อื่น เช่น ไม่ยืนขวางทางบริเวณประตู ไม่คุยโทรศัพท์ ไม่คุยเสียงดัง และไม่ทานอาหารบนรถไฟด้วย แต่รถไฟด่วนพิเศษและชินคันเซ็นจะได้รับการยกเว้นให้สามารถทานอาหารได้บนที่นั่ง และคุยโทรศัพท์นอกห้องโดยสารได้
ก่อนถึงแต่ละสถานีจะมีเสียงประกาศชื่อสถานีเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ แล้วในรถไฟรุ่นใหม่มีจอแสดงชื่อสถานีถัดไปด้วย
ถึงสถานีจุดหมาย
การเดินหาทางออก ให้มองหาป้ายสีเหลืองซึ่งเป็นมาตรฐานของป้ายทางออกสถานีรถไฟ เมื่อถึงประตูอัตโนมัติแล้วให้สอดตั๋วแล้วเดินออกได้เลย ตั๋วจะถูกเก็บเข้าเครื่อง ส่วนคนที่ใช้ IC Card ให้แตะเพื่อออกประตู
ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นที่ควรรู้ก่อนโดยสารรถไฟญี่ปุ่น ถ้ามีคำถามเพิ่มเติม สามารถมาสอบถามกับทีมงาน Japan All Pass เราพร้อมให้บริการข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเที่ยวญี่ปุ่นแก่ลูกค้าทุกท่าน