เตรียมกระเป๋าเดินทางก่อนเที่ยวญี่ปุ่น
สำหรับคนที่เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง แนะนำให้เตรียมกระเป๋าสัมภาระให้น้ำหนักเบาที่สุดก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อความคล่องตัวในการเดินทางบนรถไฟหรือรถขนส่งสาธารณะอื่นๆ
เตรียมกระเป๋าสำหรับขึ้นยานพาหนะต่างๆ
เครื่องบิน
สิ่งที่มือใหม่ควรคำนึงอย่างแรกคือกระเป๋าสัมภาระสำหรับการขึ้นเครื่องบิน ซึ่งแต่ละสายการบินมีกฏระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับขนาดกระเป๋าและน้ำหนักที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ สัมภาระโหลดใต้เครื่อง กับ สัมภาระถือขึ้นเครื่อง
สัมภาระโหลดใต้เครื่อง (Check-in Baggage)
ไม่สามารถนำอุปกรณ์ที่มีแบตเตอร์รี่ เช่น โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต แบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงค์) ใส่ในกระเป๋าสัมภาระโหลดใต้เครื่อง รวมถึงห้ามนำสิ่งของต้องห้ามของประเทศปลายทาง เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารสด อาวุธ สิ่งของผิดกฏหมายต่างๆ
สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry-on Baggage)
ขนาดของสัมภาระถือขึ้นเครื่องจำกัดที่ขนาดไม่เกิน 56 x 40 x 23 ซม. และน้ำหนักไม่เกิน 7 กก.
สิ่งที่ไม่สามารถนำถือขึ้นเครื่องได้ อาวุธ สิ่งเทียมอาวุธ ของมีคม สิ่งของผิดกฏหมาย วัตถุไวไฟ สารเคมี รวมถึงของเหลวบนบรรจุภัณฑ์ห้ามเกิน 100 ml. ต่อชิ้น (รวมกันต้องไม่เกิน 1,000 ml.) แบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงค์) ความจุห้ามเกิน 32,000 mAh
รถไฟ
รถไฟธรรมดาหรือรถไฟใต้ดินจะไม่มีที่เก็บสัมภาระ ยกเว้นขบวนรถที่มีเส้นทางจากสนามบินเท่านั้นที่อาจมีชั้นวางกระเป๋าให้ แนะนำว่าหากต้องลากกระเป๋าขึ้นรถไฟธรรมดา อย่าขวางทางเดินหรือประตูโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน
รถไฟด่วนพิเศษ (Limited Express) จะมีชั้นวางกระเป๋าให้ภายในตู้โดยสาร สามารถวางกระเป๋าใบใหญ่ที่ชั้นวางหรือบริเวณเหนือศีรษะได้
รถไฟชินคันเซ็น (Shinkansen) หลายเส้นทางมีชั้นวางจัดให้เหมือนรถไฟด่วนพิเศษเช่นกัน แต่จะมีในเส้นทาง Tokaido-Sanyo-Kyushu Shinkansen (NOZOMI, HIKARI, KODAMA, MIZUHO, SAKURA, TSUBAME) มีกฏการจองที่นั่งสำหรับกระเป๋าใบใหญ่ (Oversize Baggage Seat)
ที่นั่ง Oversize Baggage เป็นที่นั่งพิเศษที่ต้องจองล่วงหน้าสำหรับคนที่มีกระเป๋าใบใหญ่ที่เดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็นในบางเส้นทาง เพื่อให้สามารถมีพื้นที่จัดเก็บได้อย่างเป็นระเบียบ
กฏสำหรับ 3 เส้นทางนี้มีอยู่ว่าขนาดกระเป๋าเกิน 160 ซม. (50 + 30 + 80 ซม.) ต้องจองที่นั่ง Oversize Baggage ซึ่งจำกัดเฉพาะ 5 ที่นั่งท้ายในแต่ละตู้เท่านั้น โดยสามารถวางกระเป๋าไว้ด้านหลังที่นั่งได้ หากไม่ได้จองที่นั่งไว้ อาจถูกปรับ 1,000 เยน
ถ้าขนาดกระเป๋าเกิน 250 ซม. จะไม่สามารถนำขึ้นมาบนรถไฟได้ ยกเว้น อุปกรณ์กีฬา เครื่องดนตรี รถเข็นเด็ก วีลแชร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจองที่นั่ง Oversize Baggage แต่ก็แนะนำให้จองที่นั่งเพื่อความสะดวก
รถบัส
การเดินทางด้วยรถบัสเป็นวิธีที่สะดวกสำหรับการเดินทางที่มีกระเป๋าใบใหญ่ เพราะสามารถเก็บกระเป๋าไว้ใต้รถได้ ไม่ต้องลากกระเป๋าไปมาระหว่างทางเหมือนการเดินทางด้วยรถไฟ
รถแท็กซี่
รถแท็กซี่แบบ 5 ประตูจะมีที่เก็บกระเป๋ามากกว่ารถเก๋ง 4 ประตู แนะนำว่าหากเดินทางด้วยกระเป๋าหลายใบ ควรเรียกรถแท็กซี่แบบ 5 ประตูจะดีที่สุด ซึ่งตามเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นหาได้ไม่ยาก
ตู้ล็อคเกอร์
ตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่น สามารถพบได้แทบจะทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ สนามบิน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยขนาดของตู้ล็อกเกอร์ที่พบได้ทั่วไปจะมี 3 ขนาด
ขนาดเล็ก
ประมาณ 35 cm. x 34 cm. x 57 cm.
พบได้ทั่วไปและมีจำนวนตู้มากที่สุด
ค่าเช่าประมาณ 300-400 เยน ต่อวัน
ขนาดกลาง
ประมาณ 57 cm. x 34 cm. x 57 cm.
พบได้ทั่วไปเช่นกัน แต่จำนวนตู้อาจมีน้อยกว่าตู้ขนาดเล็ก
ค่าเช่าประมาณ 400-500 เยน ต่อวัน
ขนาดใหญ่
ประมาณ 117 cm. x 34 cm. x 57 cm.
พบได้ตามเฉพาะตามสถานีใหญ่ๆ จำนวนตู้มีน้อย หลายแห่งอาจไม่มีตู้ขนาดใหญ่ให้บริการ
ค่าเช่าประมาณ 600-800 เยน ต่อวัน
ราคาค่าเช่าตู้ล็อคเกอร์นับเป็นวัน (เที่ยงคืน-เที่ยงคืน) หากฝากไว้ข้ามคืนจะนับเพิ่มอีกวัน โดยต้องจ่ายราคาค่าเช่าเพิ่มในวันที่รับของคืน และสามารถฝากได้ไม่เกิน 3 วัน
วิธีใช้งานตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ
- หาตู้ล็อคเกอร์ที่ว่าง โดยจะเป็นตู้ที่มีกุญแจเสียบ
- เปิดตู้ ใส่สัมภาระทั้งหมดที่ต้องการฝาก
- ปิดตู้ ใส่หยอดเหรียญ 100 เยน ให้ครบราคาค่าเช่าตามแต่ละประเภทตู้ (หากไม่มีเหรียญ ส่วนมากตามจุดจะมีเครื่องแลกเหรียญอัตโนมัติ สามารถสอดธนบัตร 1,000 เยน เพื่อแลกเหรียญ 100 เยน 10 เหรียญ ได้เลย)
- เมื่อหยอดเหรียญครบ บิดกุญแจออก และเก็บกุญแจให้เรียบร้อย
- เมื่อต้องการรับของคืน เสียบกุญแจและเปิดตู้ออก ตรวจสอบในแน่ใจว่านำของออกมาครบ (หากเปิดตู้แล้วต้องการฝากต่อ ต้องจ่ายเงินใหม่อีกรอบ)
- นอกจากนี้ ตู้ล็อคเกอร์หลายแห่งเป็นระบบทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช้กุญแจ และสามารถจ่ายด้วยธนบัตรหรือ IC Card ได้
วิธีใช้งานตู้ล็อคเกอร์แบบไม่มีกุญแจ
- หาตู้ล็อคเกอร์ที่ว่าง จากตู้ที่มีไฟเขียว (หรือตู้ที่ไม่ขึ้นไฟแดง)
- เปิดตู้ ใส่สัมภาระทั้งหมดที่ต้องการฝาก และปิดตู้ให้เรียบร้อย (ตู้บางชนิดอาจต้องกดปุ่มล็อคก่อน)
- จำหมายเลขตู้ แล้วเดินไปที่หน้าจอแถวเดียวกับตู้ล็อคเกอร์ที่ฝากของไว้ ทำตามขึ้นตอนบนหน้าจอเพื่อยืนยันการล็อคตู้และชำระเงิน
- กรณีจ่ายด้วยเงินสด – ต้องรับใบเสร็จที่ระบุเลข PIN หรือ QR Code ในการเปิดตู้ แนะนำให้ถ่ายรูปไว้ เพราะถ้าทำหายจะไม่สามารถเปิดตู้ได้เอง
- กรณีจ่ายด้วย IC Card – ตัวบัตรจะเป็นกุญแจในการเปิดตู้ เพียงใช้บัตรแตะเมื่อต้องการกลับมาเปิดตู้
บริการฝากและส่งกระเป๋า
ร้านรับฝากและส่งกระเป๋ามีให้บริการตามสถานีรถไฟและสนามบิน โดยมีทั้งแบบฝากที่ร้านและแบบส่งให้ที่โรงแรม ราคาค่าบริการขึ้นกับแต่ละร้าน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800-1000 เยนต่อใบสำหรับการฝากและมารับที่ร้าน ส่วนการส่งไปที่โรงแรมภายในพื้นที่ราคาประมาณ 1,500 เยนต่อใบ และต้องฝากก่อนเวลาที่ร้านกำหนด (ฝากช่วงเช้า กระเป๋าส่งถึงโรงแรมช่วงค่ำ)