เที่ยวญี่ปุ่นอย่างสะดวกสบายด้วยบัตร IC Card
บัตร IC Card หรือหลายคนอาจรู้จักในชื่อ Suica, PASMO, ICOCA ฯลฯ แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร ใช้อย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบ ปูความรู้เบื้องต้นกันว่าไปญี่ปุ่นควรมีเจ้าบัตรนี้หรือไม่
สารบัญเนื้อหา
บัตร IC Card คืออะไร
บัตร IC Card คือ บัตรเติมเงินสมาร์ทการ์ดของประเทศญี่ปุ่น สามารถแตะใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงขึ้นรถขนส่งสาธารณะแบบไร้เงินสด บัตรมีอายุ 10 ปีนับจากใช้งานครั้งสุดท้าย ดังนั้นใครที่ซื้อไว้แล้วคิดว่าต้องกลับมาญี่ปุ่นซ้ำแน่นอน แอดมินก็แนะนำเก็บบัตรไว้ใช้ครั้งถัดไปดีกว่า
ถือบัตรใบเดียวใช้ได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น
โตเกียว-โอซาก้า-ซัปโปโร-ฟุกุโอกะ-นาโกย่า เหมือนกันหมด
ไม่ต้องเปลี่ยนบัตรหรือซื้อบัตรใหม่ทุกครั้ง
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก่อนซื้อบัตร IC Card
บัตร IC Card ต่างกับพาสรถไฟอย่างไร?
บัตร IC Card ไม่ใช่พาส และไม่ได้มอบส่วนลดพิเศษในการเดินทางใดๆ นอกจากในรถไฟบางเส้นทางที่อาจมีส่วนลดให้แค่ 2-3 เยนต่อเที่ยว แต่สิ่งที่บัตรนี้มอบให้ คือ ความสะดวกสบายในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไปแบบไร้เงินสด เช่น การเดินทางด้วยรถไฟ รถบัส แท็กซี่ การซื้อสินค้าตามร้านสะดวกซื้อหรือตู้กดอัตโนมัติ การใช้บริการอื่นๆอย่างการเช่าตู้ล็อคเกอร์ เป็นต้น
บัตร IC Card มีขายที่ไทยไหม?
ไม่มีขายในไทย ต้องซื้อที่ญี่ปุ่นเท่านั้น
บัตรมีอายุกี่ปี?
บัตรมีอายุ 10 ปีนับจากใช้งานครั้งสุดท้าย แตะใช้เมื่อไหร่ก็ยืดอายุไปอีก 10 ปี ดังนั้นใครที่ซื้อไว้แล้วคิดว่าต้องกลับมาญี่ปุ่นซ้ำแน่นอน ก็แนะนำเก็บบัตรเดิมไว้ใช้ครั้งถัดไปดีกว่า บัตรเดียวใช้ได้เกือบทั่วประเทศ
บัตร IC Card ใช้กับรถไฟอะไรได้บ้าง?
เรียกได้ว่าระบบขนส่งมวลชน รถไฟ รถบัส รถราง แท็กซี่ ภายในเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า ฟุกุโอกะ ซัปโปโร ล้วนรับบัตร IC Card เกือบจะ 100% แล้ว แต่ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับการเดินทางไกลข้ามจังหวัด เนื่องจากระบบไม่ครอบคลุมในพื้นที่นอกเมืองหรือตามชนบทต่างๆ
มีบัตรทราเวลการ์ดหรือบัตรเครดิตอยู่แล้ว ควรซื้อบัตร IC Card เพิ่มหรือไม่?
ระบบชำระเงิน IC ไม่ใช่ระบบเดียวกับบัตรเครดิต (VISA / Mastercard / JCB / Amex ฯลฯ) ดังนั้น บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรทราเวลการ์ด ไม่สามารถใช้จ่ายในระบบ IC ได้ รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถบัส รถราง รับชำระแค่เงินสดกับบัตร IC Card เท่านั้น
บัตร IC Card ที่นักท่องเที่ยวควรรู้จักเมื่อมาเที่ยวญี่ปุ่น
บัตร IC Card มีขายทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันขึ้นกับแต่ละบริษัทในแต่ละพื้นที่ โดยมีทั้งหมด 10 ระบบหลักที่สามารถใช้จ่ายและเติมเงินร่วมกันได้เกือบทั่วประเทศ เสมือนเป็นบัตรเดียวกัน แค่ชื่อเรียกกับลายบนบัตรต่างกันเท่านั้น
บัตรที่ขายในพื้นที่โตเกียว / คันโต
Suica
บัตรออกโดยบริษัท JR East ในมหานครโตเกียว เซ็นได นิงะตะ อาโอโมริ โมริโอกะ อะกิตะ
* บัตร Suica ยังอยู่ในช่วงสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงมีขายบางสถานีในบางช่วงเวลาเท่านั้น ตรวจสอบสถานที่ขายบัตรที่เว็บไซด์ JR East
Welcome Suica
บัตรสำหรับนักท่องเที่ยว ใช้งานเหมือนบัตร Suica เกือบทุกประการ ไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อ แต่สามารถใช้ได้แค่ 28 วัน โดยไม่สามารถขอคืนเงินได้
* บัตร Welcome Suica ไม่มีขายทุกสถานี ตรวจสอบสถานที่ขายบัตรที่เว็บไซด์ JR East
PASMO
บัตรออกโดยบริษัทรถไฟเอกชนต่างๆ ในมหานครโตเกียว เช่น Tokyo Metro, Toei Subway, Keisei Railway, Keikyu Railway เป็นต้น
*บัตร Pasmo ยังอยู่ในช่วงสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงมีขายบางสถานีในบางช่วงเวลาเท่านั้น
บัตรที่ขายในพื้นที่โอซาก้า / คันไซ
ICOCA
บัตรออกโดยบริษัท JR West ในโอซาก้า และเมืองต่างๆ ในภูมิภาคคันไซและชุโงคุ
PiTaPa
ไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะสมัครบัตรยากเหมือนบัตรเครดิต
บัตรออกโดยบริษัทรถไฟและรถบัสเอกชนในคันไซ เป็นระบบที่สามารถใช้ร่วมกับบัตร IC Card ทั้ง 9 ระบบหลักได้ แต่ต่างกันที่เป็นบัตรใช้ก่อน-จ่ายทีหลัง
บัตรที่ขายในพื้นที่ฟุกุโอกะ
SUGOCA
บัตรออกโดยบริษัท JR Kyushu ในฟุกุโอกะ คุมาโมโตะ โออิตะ คาโงชิม่า และนางาซากิ
nimoca
บัตรออกโดยบริษัทรถไฟและรถบัส Nishitetsu ในฟุกุโอกะ และบริษัทรถบัสในคุมาโมโตะ ซากะ โออิตะ มิยาซากิ
HAYAKAKEN
บัตรออกโดยบริษัท Fukuoka City Subway ในฟุกุโอกะ
บัตรที่ขายในพื้นที่นาโกย่า
toica
บัตรออกโดยบริษัท JR Central ในนาโกย่าและชิสุโอกะ
manaca
บัตรออกโดยบริษัท Meitetsu ในนาโกย่า
บัตรที่ขายในพื้นที่ฮอกไกโด
Kitaca
บัตรออกโดยบริษัท JR Hokkaido ในเมืองซัปโปโร โอตารุ อาซิฮิคาวา และฮาโกะดาเตะ
นอกจากนี้ยังมีระบบบัตรอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขต่างกันกับระบบ IC หลัก
- PiTaPa ออกโดยบริษัทรถไฟและรถบัสเอกชนในคันไซ เป็นระบบที่สามารถใช้ร่วมกับบัตร IC Card อีก 9 ระบบหลักได้ แต่ต่างที่เป็นบัตรใช้ก่อน-จ่ายทีหลัง จึงไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะสมัครบัตรยากเหมือนบัตรเครดิต
- บัตรท้องถิ่นที่มีระบบ IC ของตัวเอง แต่บัตรที่ออกโดยพื้นที่เหล่านั้นไม่สามารถใช้กับระบบหลักทั้ง 10 ได้ แต่กลับกัน คือ บัตร IC Card ทั้ง 10 ระบบหลักสามารถนำมาใช้ในพื้นที่นั้นได้ ตัวอย่างเช่น บัตร SAPICA ของบริษัท Sapporo Municipal Subway ในซัปโปโร และบัตร Paspy ในฮิโรชิม่า
- บัตรท้องถิ่นที่มีระบบ IC ของตัวเอง แต่ไม่ใช้ร่วมกับระบบหลักทั้ง 10 เช่น Okica ของโอกินาว่า
ใช้บัตร IC Card ที่ไหนได้บ้าง?
ระบบขนส่งสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อ ตู้กดอัตโนมัติ หรือบริการอื่นๆทั่วประเทศ ที่รองรับบัตร IC Card สามารถมองหาได้จากสัญลักษณ์ IC ตามจุดต่างๆทั่วประเทศ แต่สำหรับระบบขนส่งสาธารณะตามเมืองหลักอย่าง โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า ฟุกุโอกะ และซัปโปโร รับบัตร IC Card หมด แต่ไม่สามารถใช้ข้ามพื้นที่กันได้ถึงแม้ต้นทาง-ปลายทางจะรับ IC Card ก็ตาม
วิธีใช้งานบัตร IC Card
1. ซื้อบัตร IC Card
บัตร IC Card ซื้อได้ตามตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติในสถานีรถไฟและเคาน์เตอร์สำนักงานบริษัทรถไฟต่างๆ ราคาเริ่มต้นที่ 1,000 เยน แต่จะมีค่ามัดจำ 500 เยน ส่วนที่เหลือคือเงินในบัตรที่นำไปใช้ได้เลย
2. การแตะบัตรจ่ายเงิน
- การใช้บัตรที่สถานีรถไฟ เมื่อเดินผ่านประตูตรวจตั๋วอัตโนมัติให้แตะบัตรที่สัญลักษณ์ IC ทั้งตอนเข้าและออก
- ส่วนการใช้บนรถบัสหรือรถราง ให้แตะบัตรที่เครื่องอ่านข้างประตูทางเข้า และแตะบัตรอีกรอบที่เครื่องชำระเงินข้างคนขับเมื่อออกจากรถ
- การใช้จ่ายสินค้าหรือบริการอื่นๆ ให้แตะที่เครื่องอ่านเมื่อถึงขั้นตอนการชำระเงินเพียงครั้งเดียวต่อรายการ
3. เติมเงินเข้าบัตร IC Card อย่างไร?
การเติมเงินบัตร IC Card ต้องเติมด้วยเงินสดเท่านั้น ง่ายที่สุดคือใช้เงินสดเติมเงินจากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติในสถานีรถไฟ เพียงแค่สอดบัตร IC Card เข้าไป แล้วเลือกจำนวนเงินที่ต้องการเติม จากนั้นใส่ธนบัตรเงินสด แค่นี้ก็เรียบร้อย
เติมเงินบนรถบัสหรือที่ร้านสะดวกซื้อก็ทำได้เช่นกัน เพียงแสดงบัตรแล้วแจ้งให้พนักงานทราบว่าขอชาร์ตบัตร แล้วให้พนักงานดำเนินการให้
นอกจากเติมที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่สถานีรถไฟหรือตามร้านสะดวกซื้อแล้ว ยังสามารถเติมได้ที่ตู้ ATM ได้เช่นกัน (ตัวอย่างในภาพตู้ ATM Seven Bank) วิธีเติมเงินง่ายมาก เพียงเลือกจำนวนเงินที่ต้องการเติมและใส่ธนบัตรเข้าไป แล้วรอซักพักเพื่อให้ระบบอัพเดทยอดเงินในบัตร เหมือนกับการเติมเงินที่สถานีรถไฟอัตโนมัติที่สถานีรถไฟ
วิธีเช็คยอดเงินคงเหลือในบัตรด้วยตัวเอง
บัตร IC Card สามารถตรวจสอบยอดได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วรถไฟอัตโนมัติหรือตู้ ATM และปัจจุบันโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมีแอปพลิเคชั่นที่สามารถตรวจสอบยอดเงินในบัตร IC Card หลายแอปด้วยกัน แต่ไม่สามารถเติมเงินได้ โดยการตรวจสอบยอดจะใช้การแตะบัตรที่ข้างหลังโทรศัพท์ที่รองรับ NFC เพื่ออ่านข้อมูลในบัตรได้
Japan train card balance check
- ตรวจสอบประวัติการใช้งานย้อนหลังได้ (20 รายการล่าสุด)
- บันทึกการใช้งานของบัตรแต่ละใบ
การคืนเงินบัตร IC Card
หากคิดว่าภายใน 10 ปีนี้ไม่กลับมาญี่ปุ่นแน่นอน สามารถคืนบัตรได้ที่สถานีรถไฟหรือเคาน์เตอร์สำนักงานของบริษัทที่เป็นผู้ออกบัตรเท่านั้น วิธีดูที่ง่ายที่สุดคือซื้อที่ไหนคืนที่นั้น ไม่สามารถคืนข้ามพื้นที่กันได้ เช่น ซื้อบัตรที่โตเกียวไม่สามารถคืนที่โอซาก้าได้ เมื่อคืนบัตรแล้วจะได้ค่ามัดจำบัตร 500 เยน และเงินที่ค้างอยู่ในบัตรคืน แต่จะหักค่าธรรมเนียม 220 เยน