เตรียมกระเป๋าเดินทางก่อนเที่ยวญี่ปุ่น

การจัดเตรียมกระเป๋าเดินทางก่อนเที่ยวญี่ปุ่น

สำหรับคนที่เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง แนะนำให้เตรียมกระเป๋าสัมภาระให้น้ำหนักเบาที่สุดก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อความคล่องตัวในการเดินทางบนรถไฟหรือรถขนส่งสาธารณะอื่นๆ

เตรียมกระเป๋าสำหรับขึ้นยานพาหนะต่างๆ

เครื่องบิน

สิ่งที่มือใหม่ควรคำนึงอย่างแรกคือกระเป๋าสัมภาระสำหรับการขึ้นเครื่องบิน ซึ่งแต่ละสายการบินมีกฏระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับขนาดกระเป๋าและน้ำหนักที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ สัมภาระโหลดใต้เครื่อง กับ สัมภาระถือขึ้นเครื่อง

สัมภาระโหลดใต้เครื่อง (Check-in Baggage)
ไม่สามารถนำอุปกรณ์ที่มีแบตเตอร์รี่ เช่น โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต แบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงค์) ใส่ในกระเป๋าสัมภาระโหลดใต้เครื่อง รวมถึงห้ามนำสิ่งของต้องห้ามของประเทศปลายทาง เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารสด อาวุธ สิ่งของผิดกฏหมายต่างๆ

สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry-on Baggage)
ขนาดของสัมภาระถือขึ้นเครื่องจำกัดที่ขนาดไม่เกิน 56 x 40 x 23 ซม. และน้ำหนักไม่เกิน 7 กก.
สิ่งที่ไม่สามารถนำถือขึ้นเครื่องได้ อาวุธ สิ่งเทียมอาวุธ ของมีคม สิ่งของผิดกฏหมาย วัตถุไวไฟ สารเคมี รวมถึงของเหลวบนบรรจุภัณฑ์ห้ามเกิน 100 ml. ต่อชิ้น (รวมกันต้องไม่เกิน 1,000 ml.) แบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงค์) ความจุห้ามเกิน 32,000 mAh

Suvarnabhumi weight
ขนาดกระเป๋า Carry On

รถไฟ

รถไฟธรรมดาหรือรถไฟใต้ดินจะไม่มีที่เก็บสัมภาระ ยกเว้นขบวนรถที่มีเส้นทางจากสนามบินเท่านั้นที่อาจมีชั้นวางกระเป๋าให้ แนะนำว่าหากต้องลากกระเป๋าขึ้นรถไฟธรรมดา อย่าขวางทางเดินหรือประตูโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

รถไฟด่วนพิเศษ (Limited Express) จะมีชั้นวางกระเป๋าให้ภายในตู้โดยสาร สามารถวางกระเป๋าใบใหญ่ที่ชั้นวางหรือบริเวณเหนือศีรษะได้

รถไฟชินคันเซ็น (Shinkansen) หลายเส้นทางมีชั้นวางจัดให้เหมือนรถไฟด่วนพิเศษเช่นกัน แต่จะมีในเส้นทาง Tokaido-Sanyo-Kyushu Shinkansen (NOZOMI, HIKARI, KODAMA, MIZUHO, SAKURA, TSUBAME) มีกฏการจองที่นั่งสำหรับกระเป๋าใบใหญ่ (Oversize Baggage Seat)

ที่นั่ง Oversize Baggage เป็นที่นั่งพิเศษที่ต้องจองล่วงหน้าสำหรับคนที่มีกระเป๋าใบใหญ่ที่เดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็นในบางเส้นทาง เพื่อให้สามารถมีพื้นที่จัดเก็บได้อย่างเป็นระเบียบ

กฏสำหรับ 3 เส้นทางนี้มีอยู่ว่าขนาดกระเป๋าเกิน 160 ซม. (50 + 30 + 80 ซม.) ต้องจองที่นั่ง Oversize Baggage ซึ่งจำกัดเฉพาะ 5 ที่นั่งท้ายในแต่ละตู้เท่านั้น โดยสามารถวางกระเป๋าไว้ด้านหลังที่นั่งได้ หากไม่ได้จองที่นั่งไว้ อาจถูกปรับ 1,000 เยน

ถ้าขนาดกระเป๋าเกิน 250 ซม. จะไม่สามารถนำขึ้นมาบนรถไฟได้ ยกเว้น อุปกรณ์กีฬา เครื่องดนตรี รถเข็นเด็ก วีลแชร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจองที่นั่ง Oversize Baggage แต่ก็แนะนำให้จองที่นั่งเพื่อความสะดวก

luggage train
ชั้นวางกระเป๋าบนรถไฟ
luggage space
ที่นั่งสำหรับกระเป๋าใบใหญ่ (Oversize Baggage Seat) บนชินคันเซ็น

รถบัส

การเดินทางด้วยรถบัสเป็นวิธีที่สะดวกสำหรับการเดินทางที่มีกระเป๋าใบใหญ่ เพราะสามารถเก็บกระเป๋าไว้ใต้รถได้ ไม่ต้องลากกระเป๋าไปมาระหว่างทางเหมือนการเดินทางด้วยรถไฟ

รถแท็กซี่

รถแท็กซี่แบบ 5 ประตูจะมีที่เก็บกระเป๋ามากกว่ารถเก๋ง 4 ประตู แนะนำว่าหากเดินทางด้วยกระเป๋าหลายใบ ควรเรียกรถแท็กซี่แบบ 5 ประตูจะดีที่สุด ซึ่งตามเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นหาได้ไม่ยาก

taxi

ตู้ล็อคเกอร์

ตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่น สามารถพบได้แทบจะทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ สนามบิน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยขนาดของตู้ล็อกเกอร์ที่พบได้ทั่วไปจะมี 3 ขนาด

luggage locker

ขนาดเล็ก

ประมาณ 35 cm. x 34 cm. x 57 cm.
พบได้ทั่วไปและมีจำนวนตู้มากที่สุด
ค่าเช่าประมาณ 300-400 เยน ต่อวัน

ขนาดกลาง

ประมาณ 57 cm. x 34 cm. x 57 cm.
พบได้ทั่วไปเช่นกัน แต่จำนวนตู้อาจมีน้อยกว่าตู้ขนาดเล็ก
ค่าเช่าประมาณ 400-500 เยน ต่อวัน

ขนาดใหญ่

ประมาณ 117 cm. x 34 cm. x 57 cm.
พบได้ตามเฉพาะตามสถานีใหญ่ๆ จำนวนตู้มีน้อย หลายแห่งอาจไม่มีตู้ขนาดใหญ่ให้บริการ
ค่าเช่าประมาณ 600-800 เยน ต่อวัน

ราคาค่าเช่าตู้ล็อคเกอร์นับเป็นวัน (เที่ยงคืน-เที่ยงคืน) หากฝากไว้ข้ามคืนจะนับเพิ่มอีกวัน โดยต้องจ่ายราคาค่าเช่าเพิ่มในวันที่รับของคืน และสามารถฝากได้ไม่เกิน 3 วัน

วิธีใช้งานตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ

  1. หาตู้ล็อคเกอร์ที่ว่าง โดยจะเป็นตู้ที่มีกุญแจเสียบ
  2. เปิดตู้ ใส่สัมภาระทั้งหมดที่ต้องการฝาก
  3. ปิดตู้ ใส่หยอดเหรียญ 100 เยน ให้ครบราคาค่าเช่าตามแต่ละประเภทตู้ (หากไม่มีเหรียญ ส่วนมากตามจุดจะมีเครื่องแลกเหรียญอัตโนมัติ สามารถสอดธนบัตร 1,000 เยน เพื่อแลกเหรียญ 100 เยน 10 เหรียญ ได้เลย)
  4. เมื่อหยอดเหรียญครบ บิดกุญแจออก และเก็บกุญแจให้เรียบร้อย
  5. เมื่อต้องการรับของคืน เสียบกุญแจและเปิดตู้ออก ตรวจสอบในแน่ใจว่านำของออกมาครบ (หากเปิดตู้แล้วต้องการฝากต่อ ต้องจ่ายเงินใหม่อีกรอบ)
  6. นอกจากนี้ ตู้ล็อคเกอร์หลายแห่งเป็นระบบทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช้กุญแจ และสามารถจ่ายด้วยธนบัตรหรือ IC Card ได้

วิธีใช้งานตู้ล็อคเกอร์แบบไม่มีกุญแจ

  1. หาตู้ล็อคเกอร์ที่ว่าง จากตู้ที่มีไฟเขียว (หรือตู้ที่ไม่ขึ้นไฟแดง)
  2. เปิดตู้ ใส่สัมภาระทั้งหมดที่ต้องการฝาก และปิดตู้ให้เรียบร้อย (ตู้บางชนิดอาจต้องกดปุ่มล็อคก่อน)
  3. จำหมายเลขตู้ แล้วเดินไปที่หน้าจอแถวเดียวกับตู้ล็อคเกอร์ที่ฝากของไว้ ทำตามขึ้นตอนบนหน้าจอเพื่อยืนยันการล็อคตู้และชำระเงิน
  4. กรณีจ่ายด้วยเงินสด – ต้องรับใบเสร็จที่ระบุเลข PIN หรือ QR Code ในการเปิดตู้ แนะนำให้ถ่ายรูปไว้ เพราะถ้าทำหายจะไม่สามารถเปิดตู้ได้เอง
  5. กรณีจ่ายด้วย IC Card – ตัวบัตรจะเป็นกุญแจในการเปิดตู้ เพียงใช้บัตรแตะเมื่อต้องการกลับมาเปิดตู้

บริการฝากและส่งกระเป๋า

ร้านรับฝากและส่งกระเป๋ามีให้บริการตามสถานีรถไฟและสนามบิน โดยมีทั้งแบบฝากที่ร้านและแบบส่งให้ที่โรงแรม ราคาค่าบริการขึ้นกับแต่ละร้าน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800-1000 เยนต่อใบสำหรับการฝากและมารับที่ร้าน ส่วนการส่งไปที่โรงแรมภายในพื้นที่ราคาประมาณ 1,500 เยนต่อใบ และต้องฝากก่อนเวลาที่ร้านกำหนด (ฝากช่วงเช้า กระเป๋าส่งถึงโรงแรมช่วงค่ำ)

luggage storage
ตัวอย่างราคาค่าบริการของร้านฝากและส่งกระเป๋า